แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก,แม่พิมพ์ปั๊มโลหะ หรือแม่พิมพ์ใดๆ เราคงไม่สามารถทราบได้เลยว่า ในเหล็กก้อนตันๆในนั้นมีส่วนประกอบอะไรอยู่บ้าง การจะตัดเฉือนโลหะเพื่อให้ได้ขนาดที่ถูกต้องแม่นยำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เครื่องจักรที่ใช้ผลิตต้องมีความเที่ยงตรงสูง เมื่อเราลดความคลาดเคลื่อนจากเครื่องจักรได้แล้ว ก็ต้องดูผู้ปฎิบัติงานว่ามีทักษะและมีความเข้าใจในโครงสร้างของแม่พิมพ์มาก-น้อยแค่ไหน การออกแบบที่ถูกต้องจะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการสร้างแม่พิมพ์ไปได้
ผู้ออกแบบแม่้พิมพ์โดยปกติจะพิจารณาเรื่องของการเปิดแม่พิมพ์เพื่อปลดชิ้นงานเป็นอันดับแรก เพื่อเลือกว่าจะออกแบบแม่พิมพ์เป็นลักษณะใด ผู้ผลิตแม่พิมพ์ในปัจจุบันหลายรายที่อาศัยประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ไม่เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้แม่พิมพ์ที่ผลิตชิ้นงานมีคุณภาพต่ำ ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ ในการออกแบบแม่พิมพ์ ผู้ออกแบบจะต้องทำการวางlayoutของแม่พิมพ์คร่าวๆก่อน เช่น ถ้าชิ้นงานสามารถเปิดแม่พิมพ์ได้แบบปกติ ก็จะเลือกออกแบบแม่พิมพ์เป็นแบบ2 plate แต่ถ้าชิ้นงานต้องเข้าน้ำพลาสติกทางด้านบนก็ต้องเลือกออกแบบเป็นแบบ 3 plate จากนั้นจึงนำชิ้นงานมาวางใน layout แม่พิมพ์เพื่อออกแบบแม่พิมพ์ต่อไปซึ่งในแม่พิมพ์พลาสติกที่ใช้กันส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบดังนี้
1. แผ่นแม่พิมพ์อยู่กับที่
เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ด้านบนสุดของแม่พิมพ์พลาสติก ทำหน้าที่เป็นจุดยึดแม่พิมพ์ฝั่งด้าน cavity ให้เข้ากับเครื่องฉีดพลาสติก โดยที่แผ่นนี้จะเป็นเหมือนประตูรับพลาสติกหลอมเหลวจากเครื่องฉีดพลาสติกเข้าสู่โพรงแบบ
2.แผ่นปลดทางวิ่งพลาสติก
เป็นแผ่นที่ใช้ในการดึงท่อทางวิ่งของน้ำพลาสติกจากหัวฉีดสู่ทางวิ่ง(runner) หากไม่ีมีแผ่นนี้เมื่อแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกครบรอบ จะไม่สามารถดึงพลาสติกที่แข็งตัวแล้วออกจากหัวฉีดได้ นอกจากนี้ยังเป็นชิ้นส่วนสำหรับติดตั้งชุดดึงทางเข้าพลาสติกอีกด้วย
3.แผ่นโพรงแม่แบบ
แผ่นนี้จะเป็นที่อยู่ของแม่แบบสำหรับขึ้นรูปพลาสติก และเป็นที่ติดตั้งระบบทางเข้าของน้ำพลาสติก เมื่อรอบการฉีดพลาสติกครบ แผ่นนี้จะเป็นตัวเปิดเพื่อปลดให้ท่อทางวิ่งของน้ำพลาสติกที่แข็งตัวออกมาได้
4.แผ่นโพรงแม่แบบฝั่งตัวผู้
ถือเป็นแผ่นที่เป็นส่วนสำคัญในการขึ้นรูปพลาสติก เมื่อเราฉีดพลาสติกหลอมเหลวเข้าสู่แม่พิมพ์ พลาสติกจะต้องเข้ามาเซทตัวที่แผ่นนี้เพื่อขึ้นรูป พลาสติกจะเปลี่ยนสภาพจากของเหลวไปสู่ของแข็ง อุณหภูมิที่สูงของน้ำพลาสติกจะถูกทำให้เย็นลงด้วยระบบหล่อเย็นภายในแม่พิมพ์พลาสติก ซึ่งผู้ออกแบบต้องคำนวณมาอย่างดี เนื่องจากหากพลาสติกเย็นตัวเร็วเกินไป จะทำให้ชิ้นงานไม่ได้ขนาด เนื่องจากการหดตัวของพลาสติก
5.แผ่นรองรับโพรงแม่แบบ
จะใช้กันมากกับแม่พิมพ์พลาสติกทีมีขนาดใหญ่ โดยปกติถ้าแผ่น moving core plate มีความหนาและแข็งแรงเพียงพอผู้ออกแบบมักจะตัดแผ่นนี้ออกไป
6.แท่งรอง หรือ ห้องกระทุ้งชิ้นงาน
แผ่นรอง Moving Plate และเป็นที่อยู่ของห้องที่ใช้ฝังเข็มกระทุ้งปลดชิ้นงาน ความสูงของแผ่นรองนี้ถูกกำหนดโดยระยะในการปลดชิ้นงานพลาสติก
7.แผ่นรองแผ่นกระทุ้งชิ้นงาน
แผ่นนี้จะเป็นที่อยู่ของเข็มกระทุ้งปลดชิ้นงาน และจะมีตัวไกด์ฝังรวมอยู่ด้วย
8.แผ่นกระทุ้งชิ้นงาน
เป็นที่อยู่ของเข็มกระทุ้งปลดชิ้นงาน ยึดติดกับแผ่น ejector retainer plate และเป็นชิ้นส่วนที่รับแรงมาจากตัวกระทุ้งในเครื่องฉีดพลาสติก
9.แผ่นยึดแม่พิมพ์ด้านเคลื่อนที่
เป็นแผ่นประกบแม่พิมพ์ด้านล่างสุดและเป็นจุดที่ใช้ยึดแม่พิมพ์เข้ากับเครื่องฉีดพลาสติก ผู้ออกแบบควรออกแบบให้มีความแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน และต้องคำนึงถึงความยากง่ายของผู้ฉีดด้วย เนื่องจากการยกแม่พิมพ์ขึ้นเซทบนเครื่องฉีดนั้นจะทำได้ยากด้วยน้ำหนักของตัวแม่พิมพ์ และด้วยโครงสร้างของเครื่องฉีดพลาสติกเองด้วย ผู้ออกแบบควรเว้นตำแหน่งโดยเหมาสม เพื่อที่ผู้ปฎิบัติงานจะได้สามารถติดตั้งอุปกรณ์สำหรับจับยึดแม่พิมพ์ได้โดยสะดวก